COLUMNIST

"น้ำ" คุณค่าเกินราคา
POSTED ON -


 

คนไทยนับว่าเป็นผู้โชคดีที่เกิดมาไม่เคยขาดแคลนน้ำ ไม่ว่าน้ำกินหรือน้ำใช้ หรือแม้กระทั่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมและเกษตรกรรม จนแทบมองไม่เห็นความสำคัญของน้ำ และใช้กันแบบไม่เคยคิดจะประหยัด อาจจะเป็นความผิดของภาครัฐที่ปล่อยให้น้ำประปาราคาถูกก็ได้

 

แท้ที่จริงแล้วน้ำไม่ใช่มีความสำคัญแค่ใช้อุปโภคบริโภค แต่น้ำยังเป็นพลังงานยิ่งใหญ่ที่พร้อมจะสร้างสรรค์หรือทำลาย ในบทความนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของพลังงานที่มนุษย์พึ่งพามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำซึ่งถือว่าเป็นพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ไม่ว่าจะคิดแบบเศรษฐศาสตร์ สังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม

 

ท่านทราบหรือไม่ว่าพลังงานทดแทนซึ่งหมายถึงการทดแทนพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ (Fossil) แล้ว พลังงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากข้อมูล IEA (International Energy Agency) ระบุว่า ทั่วโลกผลิตพลังงานน้ำขนาดเล็กได้ถึง 16.6% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และคิดเป็น 92% ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน

 

 

สำหรับพลังงานน้ำขนาดเล็ก (Mini Hydropower) เรานับตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ที่ 200 กิโลวัตต์ จนถึงขนาด 10 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเป็นขนาดเล็กกว่า 200 กิโลวัตต์ เราจะเรียกว่า "ขนาดจิ๋ว" (Micro Hydropower)

 

ในปัจจุบันการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทยไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ ภาครัฐจึงได้หันมาส่งเสริมการพัฒนาพลังงานน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการสร้างเขื่อนขนาดเล็กหรือฝายทดน้ำกั้นลำน้ำที่จะผันน้ำจากฝายทดน้ำหรือเขื่อนไปยังโรงไฟฟ้าด้วยระบบส่งน้ำ อาศัยความต่างระดับของน้ำในลำน้ำ โดยให้น้ำไหลลงมาตามทางน้ำที่สร้างขึ้นที่มีความชันไม่สูงมาก น้ำจะไหลไปรวมกันที่อ่างหรือถังเก็บน้ำ และน้ำจะไหลผ่านท่อแรงดันไปหมุนกังหันน้ำให้ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในอาคารโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป หรืออาจเป็นการผันน้ำสู่ท่อน้ำแรงดันโดยตรงเลยก็มี

 

โครงการลักษณะนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก การลงทุนต่ำ การนำไฟฟ้าไปใช้งานก็อาศัยการส่งจ่ายไปตามสายส่งไฟฟ้าในหมู่บ้านของโครงการเรียกว่า "Isolated" หรือส่งไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านแล้วเชื่อมต่อเข้าระบบจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย หรือที่เรียกว่า "Grid Connected"

 

สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กมีลักษณะของโครงสร้างและส่วนประกอบต่างๆ ของโครงการแต่ละประเภทนั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แบ่งออกได้ดังนี้ คือ

 

1.Micro Hydro หรือโครงการขนาดจิ๋ว หมายถึง โครงการที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 200 กิโลวัตต์ลงมา ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นแบบ Isolated

 

2.Mini Hydro หมายถึง โครงการขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 201-6,000 กิโลวัตต์ ซึ่งมีทั้งแบบ Isolated และแบบ Grid Connected

 

3.Small Hydro หมายถึง โครงการขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 6-15 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Grid Connected

 

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประเมินศักยภาพพลังน้ำระดับหมู่บ้านและพลังน้ำขนาดเล็กน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีการประเมินศักยภาพพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทานที่มีอยู่ 6,618 แห่งทั่วประเทศไว้ว่าจะมีประมาณ 294 แห่งที่สามารถเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ขนาดเล็กมาก และขนาดจิ๋ว กำลังการผลิตประมาณ 115,945 กิโลวัตต์

 

สำหรับประเทศไทย ไฟฟ้าพลังน้ำที่ใช้ในประเทศมาจาก 3 แหล่งผลิต คือ จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าพลังน้ำในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และจากโรงไฟฟ้าในประเทศลาว โดยในปี 2552 ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำที่ใช้ในประเทศมีปริมาณทั้งสิ้น 9,313 GWh

 

เจตนารมณ์ของผู้เขียนนอกจากจะให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของน้ำที่เราใช้สารพัดประโยชน์อยู่ทุกวันนี้ และให้ภาครัฐเร่งเดินหน้าโครงการพลังงานจากแหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดจิ๋วแบบใจกว้าง ให้ภาคเอกชนหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานน้ำขนาดจิ๋ว ชุมชนต้องมีส่วนได้ ไม่ใช่แค่ส่วนร่วม ชุมชนจะได้เป็นหูเป็นตาช่วยดูแลทั้งแหล่งน้ำและต้นน้ำ

 

อย่าลืมว่าน้ำคือชีวิต ไม่ใช่แค่สินค้าราคาถูกอีกต่อไป ซึ่งท่านที่สนใจติดตาม "พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ" ที่กำลังรอผ่านสภา จะทราบว่า ต่อไปนี้น้ำจะไม่ใช่ของถูก แม้แต่การนำน้ำในแม่น้ำลำคลองมาใช้ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่าย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics